“กัญชา” เป็นพืชสมุนไพรมากคุณค่า นอกจากจะมีประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว กัญชายังเป็นพืชสมุนไพรทางเลือกในวงการเครื่องสำอางระดับโลกอีกด้วย ปัจจุบันเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกัญชา (Cannabis Beauty) กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (skincare) ผลิตภัณฑ์บำรุงผม ผลิตภัณฑ์น้ำหอมและเครื่องสำอางแต่งหน้า (Makeup) ฯลฯ
“CBD” หรือ Cannabidol คือส่วนหนึ่งของกัญชาที่ถูกไปใช้เป็นวัตถุดิบในวงการความสวยความงาม เนื่องจากสารชนิดนี้มีคุณสมบัติต่อต้านอาการอักเสบ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ฟื้นบำรุง และปกป้องผิวจากมลภาวะและแสงแดด ช่วยเพิ่มคอลลาเจนฟื้นฟูผิวหน้าให้เรียบเนียน กระตุ้นการผลัดเซลล์ และสร้างผิวใหม่ ลดรอยแดง รอยดำดูจางลง พร้อมเติมความชุ่มชื้นให้ผิว ทำให้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกัญชา (Cannabis Beauty) เป็นสินค้าขายดีในทั่วทุกมุมโลก
ผู้ผลิตสินค้าเครื่องสำอางในเมืองไทยต่างเล็งเห็นโอกาสทางการตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน ผู้ผลิตแต่ละรายตั้งใจพัฒนาสินค้าออกมาวางขายในอนาคต อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าคงเวลาไม่นานเท่าไร หลายคนสงสัยว่า ขั้นตอนการยื่นจดทะเบียนเครื่องสำอางจากกัญชากับองค์การอาหารและยา (อย.) จะยุ่งยากพอๆ กับการขึ้นทะเบียนยาหรือไม่ สามารถหาคำตอบได้ ดังต่อไปนี้
อย.ปลดล็อกผลิตภัณฑ์สุขภาพจากกัญชา
ภญ.ปริณดา เตชะศิรินุกูล สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปัจจุบัน อย.ปลดล็อกให้นำส่วนต่างๆ ของกัญชง กัญชา ที่ไม่มีวัตถุเสพติดนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทต่างๆ ที่ อย. กำกับดูแล ได้แก่ ยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ซึ่งแต่ละส่วนที่ อย. กำกับดูแลมีความแตกต่างกันในเรื่องขั้นตอนการรับขึ้นทะเบียน การรับจดแจ้ง
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นสินค้าที่ อย. กำกับดูแล อยู่ในระดับความเสี่ยงต่ำ เพราะเป็นสินค้าที่ใช้ภายนอก หากสามารถแสดงหลักฐานได้ว่า สินค้าดังกล่าวมีความปลอดภัย สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ อย. กำหนด ก็สามารถจดแจ้งทะเบียนสินค้ากับ อย.ได้เลย สังเกตได้ว่า การยื่นคำขอกับ อย. จะใช้คำไม่เหมือนกัน กรณีเครื่องสำอางใช้คำว่าจดแจ้ง หากเป็นผลิตภัณฑ์ยาจะใช้คำว่าขึ้นทะเบียน หมายความ เอกสารต่างๆ ที่นำมายื่นกับ อย.ต้องแสดงหลักฐานอย่างชัดเจน มีผลแล็บ ผลการวิจัยต่างๆ กรณีการจดแจ้งจะใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างปลอดภัยมีความเสี่ยงต่ำ ผู้ประกอบการที่มาขออนุญาตเพียงแค่การยื่นแจ้งแสดงความจำนงตามที่เงื่อนไข อย. กำหนด
เครื่องสำอาง
สินค้า “เครื่องสำอาง” ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอางของ อย. คือ วัตถุที่ใช้สำหรับทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ ฯลฯ กับส่วนภายนอกของร่างกายมนุษย์ รวมถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทำความสะอาด เพิ่มความสวยงาม หรือระงับกลิ่นกาย หรือปกป้องดูแลส่วนต่างๆ ของร่างกายให้อยู่ในสภาพดี รวมทั้งเครื่องประทินผิวต่างๆ แต่ไม่รวมเครื่องประดับและเครื่องตกแต่งซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย
หากผู้ประกอบการ ไม่รู้ว่าสินค้าที่ผลิตจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอางหรือเปล่า ก็ให้ดูคำนิยามตรงนี้ หากไม่ได้กับมนุษย์โดยตรง แต่ใช้กับสัตว์เลี้ยง จะไม่เข้านิยามเครื่องสำอาง เพราะ อย. ดูแลเครื่องสำอางที่ใช้กับมนุษย์และใช้บริเวณผิวหนังภายนอก ไม่สามารถใช้เครื่องมือฉีดเข้าไปในร่างกายได้ หากมีการผลักดันใต้เซลล์ผิวจะเกินนิยามของเครื่องสำอางทันที กรณีน้ำชง เช่น น้ำคอลลาเจน ก็ไม่อยู่ในกลุ่มเครื่องสำอาง แต่จัดอยู่ในประเภทอาหารหรือยา สินค้าเครื่องสำอางลงลึกได้มากที่สุดแค่ใช้กับช่องปากและฟัน เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก สเปรย์ระงับกลิ่นปาก จัดเป็นเครื่องสำอางได้ แต่สเปรย์สมุนไพรระงับเจ็บคอ ฉีดเข้าไปในลำคอ ก็ไม่ใช่กลุ่มเครื่องสำอาง
กรณีใช้น้ำมันกัญชงที่อนุญาตใส่ลงไปในยาสีฟัน จัดเป็นเครื่องสำอาง หากมีสวนล้างเข้าไปภายในร่างกาย ไม่นับเป็นเครื่องสำอางเช่นเดียวกัน เพราะวัตถุประสงค์หลักของเครื่องสำอางคือ เพื่อความสะอาดและความสวยงาม หากอ้างวัตถุประสงค์เพื่อบำบัดรักษาโรคหรือแสดงสรรพคุณส่งเสริมสุขภาพ ไม่นับว่าเป็นเครื่องสำอาง แม้จะใช้ภายนอกก็ตาม
ปัจจุบัน อย. มีหน่วยงานขึ้นมากำกับดูแลโดยตรง เรียกว่า กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือ cosmesutical ดูแลรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอก หวังผลในการเปลี่ยนแปลงสุขภาพแต่ไม่ถึงว่าเป็นยา สินค้าเครื่องสำอาง เพื่อความสะอาดและความสวยงาม ผู้ประกอบการสามารถขออนุญาตได้ที่กองผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยตรง หากแจ้งว่าเป็นเครื่องสำอาง ที่ช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงิน แสดงว่าผู้ผลิตไม่มีความจริงใจกับผู้บริโภค เพราะการจดแจ้งเป็นเครื่องสำอาง ไม่สามารถอวดอ้างถึงสรรพคุณว่า เปลี่ยนแปลงร่างกายได้ เพราะเครื่องสำอางใช้แล้ว ทำให้ลักษณะการมองดูดีขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น
สารเทอร์ปีน (Terpene) จะให้กลิ่นเฉพาะเป็นน้ำมันหอมระเหยสกัด ที่มีในกัญชง กัญชา นำมาใช้ประโยชน์กับผลิตภัณฑ์สำอาง น้ำหอม ที่เน้นกลิ่นหอมอะโรมาที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ปกป้องดูแลส่วนต่างๆ ของร่างกายให้อยู่ในสภาพดี อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด ในประเทศไทยผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอาง แต่ประเทศญี่ปุ่นจัดกลุ่มนี้อยู่ในสินค้ายา
หลักเกณฑ์แยกชนิดเครื่องสำอางของ อย.
ภญ.ปริณดา เตชะศิรินุกูล กล่าวว่า อย. มีหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติของสินค้าเครื่องสำอางจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. วิธีใช้งาน ที่เน้นการใช้ภายนอกเท่านั้น
2. วัตถุประสงค์การใช้งานหรือสรรพคุณ ที่แสดงบนฉลาก เน้นทำความสะอาด เพื่อความสวยงาม สินค้ากำจัดสิวและแบคทีเรีย แม้ใช้ภายนอก แต่อ้างว่าสรรพคุณด้านบำบัดรักษา ก็ไม่ใช่สินค้าเครื่องสำอาง หากนำกัญชา กัญชง มาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและนำมาขึ้นทะเบียน กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไม่สามารถใช้สาร CBD THC เกินเงื่อนไขที่กำหนด มิฉะนั้น กลายเป็นสินค้ายาเสพติด ผิดกฎหมายเหมือนที่เคยเป็นมา
3. สูตรส่วนประกอบของสารที่แจ้งได้ ต้องอยู่ในตำราเครื่องสำอาง ในปัจจุบันมีการปลดล็อกบางส่วน ของพืชกัญชา กัญชงมาใช้เป็นเครื่องสำอางได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนด
ขั้นตอนจดแจ้งสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง
ผู้ประกอบการที่ต้องการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำเป็นต้องจดแจ้งสถานที่ผลิตด้วย สำหรับเครื่องสำอางที่มีกัญชา กัญชงเป็นวัตถุดิบ อย.อนุญาตให้เฉพาะผู้ผลิต ไม่อนุญาตให้ผู้นำเข้ามาจดแจ้ง เพื่อนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้ เพราะรัฐบาลส่งเสริมให้มีการผลิตภายในประเทศเท่านั้น ส่วนสถานที่ผลิต ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การผลิตเครื่องสำอางที่ อย.กำหนดไว้ หากเป็นผู้ประกอบการเครื่องสำอางที่มีพื้นที่ผลิตอยู่แล้ว จะใช้กัญชา กัญชงเป็นส่วนผสมเข้าไปด้วย ก็ไม่ต้องยื่นจดทะเบียนสถานที่ผลิตใหม่ เพราะถือว่าผ่านเกณฑ์มาก่อนแล้ว
สถานที่ผลิตเครื่องสำอางจากกัญชง กัญชา ต้องมีอย่างน้อย 2 ห้อง คือ ห้องผลิต และห้องเก็บวัตถุดิบ ไม่สามารถผลิตกลางแจ้งได้ ไม่อนุญาตให้ผลิตแบบเปิด ซึ่งสถานที่ผลิตดังกล่าวสามารถใช้บริเวณบ้านได้ แต่ต้องแยกสัดส่วนจากบริเวณที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน มีอุปกรณ์การผลิตที่ถูกหลักสุขอนามัย เมื่อเตรียมสถานที่ ตามหลักเกณฑ์เรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอจดทะเบียนสถานที่ผลิตได้ ผ่านทางระบบออนไลน์ ก่อนยื่น ควรคุยกับเจ้าหน้าที่ อย.สักเล็กน้อย
การติดต่อประสานงานกับ อย.สามารถส่งข้อมูลผ่านทางออนไลน์ได้ทั้งหมด โดยเข้าไปที่ระบบ E submission ไป submit จัดส่งเอกสารประกอบคำร้อง เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สำเนาจดทะเบียนบริษัทและร้านค้า หลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารแล้ว จะโทร.นัดตรวจเยี่ยมสถานที่จริง หากโรงงานอยู่ใน กทม. จะใช้เจ้าหน้าที่ อย.
หากอยู่ต่างจังหวัด จะเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเข้าไปตรวจสอบโรงงานในระยะเวลาไม่เกิน 20 วัน หากพบสถานที่ผลิตตรงตามตามหลักเกณฑ์ที่ อย.กำหนด ก็สามารถเริ่มต้นจดแจ้งสินค้าเครื่องสำอางได้เลย หากใครไม่สะดวกในเรื่องการสื่อสารออนไลน์ สามารถเขียนคำร้องยื่นกับ อย. หรือสาธารณสุขจังหวัดได้โดยตรง
หากได้รับการอนุมัติ ต้องเสียค่าธรรมเนียมจดแจ้งเครื่องสำอาง 900 บาท กรณีที่เป็นนิติบุคคลหรือประชาชนทั่วไป หากยื่นจดแจ้งในนามวิสาหกิจชุมชนจะได้ลดหย่อนใบจดแจ้ง เหลือ 500 บาท อย.จะประมวลผลต่อว่า สูตรการผลิตเหมาะสมหรือไม่ หากผ่านการอนุมัตให้มีการจดแจ้งทะเบียนเครื่องสำอางจะมีอายุการใช้งาน 3 ปี นับจากวันที่ออกใบรับจดแจ้ง
กัญชา กัญชง กฎหมายเดิม (ก่อน 16 ธันวาคม 2563)
กัญชา กัญชง จัดเป็น Narcotic natural and synthesis ซึ่งเป็นวัตถุห้ามใช้ลำดับที่ 306 ในบัญชีท้ายประกาศฯ ชื่อวัตถุต้องห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ. 2559 ซึ่งในสมัยก่อน ไม่สามารถใช้งานได้จนกระทั่งกฎหมายยาเสพติดถูกปลดล็อก จึงสามารถนำส่วนอื่นของกัญชา กัญชง ที่ไม่ใช่สารเสพติดมาใช้ประโยชน์ได้
ปัจจุบันกัญชาที่ยังเป็นสิ่งเสพติดอยู่คือ ช่อดอกและเมล็ดกัญชา ที่น่าภาคภูมิใจมากๆ ก็คือเมล็ดกัญชง ได้ถูกปลดล็อกแล้วสามารถนำมาใส่ในเครื่องสำอางได้ แต่เมล็ดกัญชายังนับเป็นสารเสพติดอยู่ไม่สามารถนำมาใช้ในเครื่องสำอางได้ กัญชา-กัญชงแตกต่างกันที่ ปริมาณสาร THC ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นกัญชง ถ้าเกินปริมาณที่กำหนด จัดเป็นกัญชา
ดังนั้น สามารถปลูกกัญชงและนำเมล็ดกัญชงหรือน้ำมันสกัดจากสารกัญชง มาใช้ในเครื่องสำอางได้ ส่วนอื่นๆ ของกัญชา เช่น เปลือก ลำต้น เส้นใย ราก ใบ กิ่ง ก้าน ยังนำมาใช้เป็นเครื่องสำอางได้ ในขณะนี้ อย. ได้ยกร่างกฎหมายเรื่องการใช้ประโยชน์ เปลือก ใบ ราก มาบดเป็นผงใส่ในเครื่องสำอาง ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบถามความเห็นของผู้ประกอบการและประชาชน
ปัจจุบันเครื่องสำอางสามารถใส่ได้แค่เมล็ดกัญชงหรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชงเท่านั้น ส่วนอื่นที่ปลดล็อกแล้ว เช่น ราก กิ่ง ใบ หรือแม้ทั้งสารสกัด CBD ที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2 อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล ตอนนี้นำร่องให้ใช้น้ำมันสกัดจากเมล็ดกัญชงในการผลิตเครื่องสำอางได้แล้ว แต่อนุญาตให้ใช้เฉพาะผู้ผลิตในประเทศ และแหล่งผลิตที่ถูกกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้อนุญาตให้มีการนำเข้า เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรในประเทศ และใช้วัตถุดิบที่ปลูกในประเทศอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น
เงื่อนไขใช้เมล็ดกัญชงในเครื่องสำอาง
อย.กำหนดสเปกว่า เมล็ดกัญชงหรือสารสกัดกัญชงที่นำมาใช้ในเครื่องสำอาง มี สาร THC ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ กรณีใช้ในเครื่องสำอาง กลุ่ม soft gelatin capsule เช่น น้ำมันมาใส่ในแคปซูลนุ่มๆ แล้วบีบทาเฉพาะจุด อาจมีการเสี่ยงของผู้บริโภคเกิดขึ้น จึงลดระดับ THC ในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ไม่เกิน 0.001 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ในช่องปากและอื่นๆ เช่น ยาสระผม ยาระงับกลิ่นกาย ใส่น้ำมันเมล็ดกัญชงได้ แต่ THC ต้องน้อยกว่า 0.001 เปอร์เซ็นต์ ต้องใช้ภายนอกเท่านั้น จึงอยู่ในหลักเกณฑ์นี้ นอกเหนือจากนี้จัดอยู่ในกลุ่มยา
ติดฉลากเครื่องสำอางจากกัญชง
ภญ.ปริณดา เตชะศิรินุกูล กล่าวว่า หลัง อย. อนุญาตให้มีการจดแจ้งทะเบียนเครื่องสำอางแล้ว ต้องเพิ่มคำเตือนในฉลากเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของเมล็ดกัญชง ซึ่งสามารถใช้ใน 2 รูปแบบ คือ
รูปแบบทั่วไป เช่น แชมพู สบู่ ครีมบำรุงผิว ลักษณะนี้จะมีคำเตือน 2 อย่าง คือ ผลิตภัณฑ์นี้อาจก่อให้เกิดการแพ้ได้หากมีอาการผิดปกติขึ้นกรุณาหยุดใช้และปรึกษาแพทย์โดยด่วน
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงมาก เช่น น้ำมันหยอด บางคนคิดว่ารับประทานได้ จะต้องเพิ่มคำเตือนว่า ห้ามรับประทาน ปัจจุบันก็มีคนมาขออนุญาตจดแจ้งเครื่องสำอางกับ อย.บ้างแล้ว แต่ยังไม่มีใครผ่านเพราะติดปัญหาเรื่องเอกสารประกอบการพิจารณาไม่ครบถ้วนชัดเจน
หลักเกณฑ์การรับจดแจ้ง
เอกสารประกอบการพิจารณา คือส่วนสำคัญที่สุดในการจดแจ้งเครื่องสำอางกับ อย. จำเป็นต้องมีเอกสารแสดงผลวิเคราะห์ปริมาณ THC ในวัตถุดิบ น้ำมันกัญชงที่จะใช้ผู้ประกอบการสามารถขอจากผู้ขายวัตถุดิบได้ว่า น้ำมันที่นำมาขายมีปริมาณ THC เท่าไร
จุดที่มีปัญหามากคือ เอกสารระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบต้องชัดเจน ซึ่งเป็นใบอนุญาตปลูกตามกฎหมายของ พ.ร.บ.ยาเสพติด รวมทั้งเอกสารการรับซื้อพืชกัญชงที่ออกด้วย อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่กองสารเสพติดเพิ่มเข้ามา ต้องแนบเข้ามาด้วย ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายคนไม่มีเอกสารยืนยัน อย. ไม่รู้ว่าวัตถุดิบมาจากไหน ก็ไม่สามารถอนุญาตให้จดแจ้งได้
นอกจากนี้ ยังมีหนังสือรับรอง ออกโดยคณะกรรมการบริษัท รับรองกับ อย. ว่าจะผลิตเครื่องสำอาง โดยไม่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงของเครื่องสำอาง หากเกินจริง ยินยอมให้ อย. ยกเลิกเพิกถอนใบอนุญาตได้ แนบฉลากประกอบการพิจารณา สุดท้ายต้องคำนวณปริมาณ THC จากผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป โดยคำนวณจากปริมาณจากสารที่วิเคราะห์ได้ และเปอร์เซ็นต์ที่ใช้ในสูตร
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้กัญชงสามารถใช้ชื่อ hemp หรือ กัญชง เป็นส่วนหนึ่งของชื่อเครื่องสำอางได้ โดยระบุชัดเจนว่าได้มาจากส่วนใด ปัจจุบันอนุญาตให้ใช้แค่เมล็ด ฉะนั้น ต้องตั้งชื่อให้ชัดเจนว่า Hemp seed oil จะใช้ส่วนไหนต้องแจ้งให้ถูกต้อง ไม่ใช้แค่ชื่อ hemp หรือ บอกว่า สบู่กัญชงลอยๆ ต้องแจ้งให้ชัดเจนว่า สบู่น้ำมันเมล็ดกัญชง หากเป็นน้ำมันสกัดจากกัญชง ต้องระบุว่า hemp oil bodycare หรือน้ำมันนวดผิว ชื่อต้องบอกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางด้วย เพราะกลัวผู้บริโภคจะนำไปใช้ผิด ชื่อต้องอยู่ในเครือข่ายเครื่องสำอาง ไม่อ้างบำบัดบรรเทารักษาป้องกันโรค
กรณีผู้ประกอบการเป็นผู้ปลูกเองหรือเป็นแค่ผู้ซื้อวัตถุดิบมาใช้ก็ตาม หากไม่มั่นใจว่าวัตถุดิบที่นำมาใช้มีปริมาณสาร THC เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สามารถดำเนินงานตรวจสอบได้กับห้องปฏิบัติการ
การโฆษณาเครื่องสำอาง
หลังจาก อย.อนุมัตการจดแจ้งเครื่องสำอางเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบควรตระหนักคือ การโฆษณา เนื่องจาก อย.ตรวจพบความผิดของการโฆษณาเครื่องสำอางเยอะมาก ทางสื่อสังคมทางออนไลน์ต่างๆ ทั้งนี้ การโฆษณาเครื่องสำอางไม่ต้องขออนุญาต ผู้ประกอบการสามารถลงโฆษณาไปก่อนได้ หากเป็นยาและอาหารต้องให้เจ้าหน้าที่ อย.ดูก่อน สำหรับเครื่องสำอางลงไปก่อนได้ แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียหรือไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นแหล่งกำเนิด คุณภาพ สภาพ ปริมาณ ลักษณะตัวเครื่องสำอางเอง และสิ่งที่โฆษณาต้องไม่เกินจริง
น้ำมันสกัดจากเมล็ดกัญชงทำให้ผิวนุ่มได้ แต่ไม่สามารถแก้โรคสะเก็ดเงินได้ เพราะเป็นการโฆษณาเครื่องสำอางเกินจริง กลายเป็นยารักษาโรคแทน และไม่สามารถโฆษณาเกี่ยวกับการบรรเทารักษาโรค กรณีมีเงินอยากลงโฆษณา แต่ไม่รู้จะถูกต้องหรือไม่ สามารถให้ อย. ช่วยออกความคิดเห็นได้ โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 5_000 บาท หากเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โทรทัศน์ สื่อโซเชียลต่างๆ เสียค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10_000 บาท ระยะเวลาพิจารณาทำการ 60 วัน หากอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถค้นหาได้ในกูเกิ้ล พิมพ์คำว่า อย. เครื่องสำอาง นี่เป็นเว็บไซต์ทางการของกลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง ภายในเว็บไซต์นี้จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับ การขออนุญาต แบบฟอร์มคำขอ คู่มือประชาชน
อย.อยากเน้นย้ำให้ผู้บริโภค ตรวจสอบเลขที่ใบรับจดแจ้ง ของ อย. หรือเลขที่ใบรับอนุญาตต่างๆ ของ อย. มีช่องทางทั้งหมด 4 ช่องทาง 1. เป็นเพื่อนกับ อย. @fdathai ทางไลน์ 2. แอปพลิเคชั่น อย. สมาร์ท 3. เว็บไซต์หลัก fda.moph.go.th 4. เว็บไซต์ oryor.com ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าเครื่องสำอางที่มีคุณภาพ ถูกต้อง และปลอดภัยได้อย่างสบายใจ
ข้อมูลจาก
http://ไปที่..link..
สำหรับผู้ผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบของกัญชา สามารถส่งตัวอย่างเข้าตรวจวิเคราะห์กับ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CENTRAL LAB THAI ได้ที่ลิงค์นี้
http://ไปที่..link..
สำหรับผู้ผลิตสินค้าที่สนใจตรวจฉลากโภชนาการของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จาก กัญชา-กัญชา สามารถส่งตัวอย่างเข้าตรวจวิเคราะห์กับ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CENTRAL LAB THAI ได้ที่ลิงค์นี้
http://ไปที่..link..