pH : ความเป็นกรด-ด่างของดิน
ภาพรวมของเนื้อหา :
pH ใช้บอกความเป็นกรด-ด่าง ความหมายของค่าพีเอชนี้ขออธิบายดังนี้ ช่วงของพีเอชของดินโดยทั่วไปจะมีค่าอยู่ระหว่างประมาณ ๓.๐-๙
อัปเดท ( 11 กุมภาพันธ์ 2554 ) , แสดง (22,697) , ความคิดเห็น (1) , พิมพ์


ความเป็นกรด-ด่างของดิน

          สภาพความเป็นกรด-ด่างของดินนั้นเราสามารถตรวจสอบได้ ปกติเรามักใช้บอกความเป็นกรด-ด่างด้วยค่าที่เรียกว่า พีเอช หรือนิยมเขียนสัญลักษณ์เป็นภาษาอังกฤษ pH ความหมายของค่าพีเอชนี้ขออธิบายดังนี้ ช่วงของพีเอชของดินโดยทั่วไปจะมีค่าอยู่ระหว่างประมาณ ๓.๐-๙.๐  ค่า pH 7.0 บอกถึงสภาพความเป็นกลางของดิน กล่าวคือ ดินมีตัวที่ทำให้เป็นกรดและตัวที่ทำให้เป็นด่างอยู่เป็นปริมาณเท่ากันพอดี ค่าที่ต่ำกว่า ๗.๐  เช่น ๖.๐ บอกสภาพความเป็นกรดของดิน ในกรณีนี้เมื่อดินมี pH 6.0 เราก็จะทราบว่าดินเป็นกรดอย่างอ่อน มีสภาพเป็นกรดมากกว่าดินที่มี pH 7.0 (เป็นกลาง) สิบเท่า ค่า pH ของดินยิ่งลดลงเท่าใดสภาพความเป็นกรดก็รุนแรงยิ่งขึ้นเท่านั้น  ดินที่มี pH 5.0 จะเป็นกรดมากกว่า pH 6.0 สิบเท่าและมากเป็น ๑๐๐ เท่าของดินที่มี pH 7.0 แต่ละค่าของ pH ที่ต่างกันหนึ่งหน่วยจะบอกความเป็นกรดที่แตกต่างกันสิบเท่า เช่นเดียวกับดินที่มี pH  สูงกว่า ๗.๐ ก็จะบอกสภาพความเป็นด่างของดินยิ่งมีค่าสูงกว่า ๗.๐ เท่าใด ความเป็นด่างก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น และจะเป็นด่างมากขึ้นเป็นสิบเท่าต่อความแตกต่างกันหนึ่งหน่วยของค่า pH ระดับความรุนแรงของความเป็นกรด-ด่างของดินสามารถบอกได้จากค่าของ pH ดังนี้

          ค่าของ pH ของดินสามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดความเป็นกรด ในภาคสนามสามารถใช้ชุดตรวจสอบชนิดใช้น้ำยาเปลี่ยนสีตรวจสอบเรียกว่า pH Test Kit หรือชุดตรวจสอบ pH

          ความเป็นกรด-ด่างของดินมีผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกอยู่ในดิน แต่จะขอกล่าวโดยสรุปเป็นสังเขปเท่านั้น
          ความเป็นกรดของดินจะมีสภาพเหมือนกับกรดอย่างอ่อน เช่น กรดน้ำส้มสายชู ตัวที่แสดงความเป็นกรดคือ ไฮโดรเจนไอออน (H+) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางเคมีของดิน กล่าวคือ ทำให้มีการละลายตัวของธาตุหรือสารต่างๆ ในดินออกมา บ้างก็เป็นประโยชน์ บ้างก็อาจเป็นพิษต่อพืช เช่น ถ้าดินเป็นกรดรุนแรงจะทำให้มีธาตุพวกอะลูมิเนียม แมงกานีส และเหล็ก ละลายออกมาอยู่ในน้ำในดินมากเกินไป จนเกิดเป็นพิษขึ้นแก่พืชที่ปลูกได้ แมงกานีสและเหล็กแม้จะเป็นธาตุอาหารพืชที่สำคัญ แต่พืชต้องการในปริมาณน้อย  ถ้ามีสะสมอยู่ในดินมากจนเกินไปก็จะเกิดเป็นพิษขึ้นกับพืชได้ ดินที่มีค่าพีเอช (pH) ต่ำกว่า ๔.๕  ลงไปเรามักพบปัญหาดังกล่าวข้างต้น

          ความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารต่างๆ  ในดินที่พืชจะดึงดูดเอาไปใช้ได้ง่ายและมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสภาพหรือระดับ pH ของดินเป็นอย่างมาก ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดินจะคงสภาพที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้ง่าย และมีปริมาณมากที่ pH ช่วงหนึ่ง ถ้าดินมี pH สูงหรือต่ำกว่าช่วงนั้นๆ ก็เปลี่ยนสภาพเป็นรูปที่ยากที่พืชจะดึงดูดเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้ เช่น ธาตุฟอสฟอรัสจะอยู่ในรูปของสารละลายที่พืชดึงดูดไปใช้ได้ง่าย เมื่อดินมี pH อยู่ระหว่าง ๖.๐-๗.๐ ถ้าดินมี pH สูง หรือต่ำกว่าช่วงนี้ ความเป็นประโยชน์ของธาตุฟอสฟอรัสในดินก็ลดน้อยลง เพราะไปทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุต่างๆ ในดินได้ง่ายขึ้น และแปรสภาพเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยาก ปุ๋ยฟอสเฟตที่เราใส่ลงไปในดินจะเป็นประโยชน์ต่อพืชที่ปลูกได้มากที่สุดก็เมื่อดินมี pH อยู่ในช่วงดังกล่าว ปุ๋ยฟอสเฟตที่ใส่ลงไปในดินจะไม่เป็นประโยชน์ต่อพืชทั้งหมด แต่จะสูญเสียไปโดยทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุต่างๆ ในดิน แปรสภาพเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยากเสียกว่า ๘๐% ซึ่งเราเรียกว่าฟอสเฟตถูกตรึง ปุ๋ยฟอสเฟตจะถูกตรึงได้ง่ายและมากขึ้นไปกว่านี้ได้อีก ถ้าดินมี pH สูงหรือต่ำกว่าช่วง pH  ดังกล่าวข้างต้น

          ธาตุอาหารพืชพวกจุลธาตุ (micronutrients)  เช่น สังกะสี เหล็ก แมงกานีส โบรอน เป็นต้น  จะละลายออกมาอยู่ในสภาพที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้ง่าย และมีอยู่ในดินอย่างพอเพียงกับความต้องการของพืช เมื่อดินมี pH เป็นกรดอย่างอ่อนถึงกรดปานกลางมากกว่าเมื่อดินมี pH เป็นกลางหรือเป็นด่าง แต่ในทางตรงกันข้ามธาตุอาหารโมลิบดินัม จะเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ดีขึ้น ถ้าดินมี pH เป็นกลางถึงด่างอย่างอ่อน อย่างไรก็ตามเมื่อสรุปความเสียเปรียบและได้เปรียบระหว่างความเป็นกรดและเป็นด่างของดินแล้ว ดินที่เหมาะสำหรับปลูกพืชควรจะมี pH อยู่ในช่วงเป็นกรดอย่างอ่อนถึงเป็นกรดปานกลาง

          ความสำคัญของ pH ของดินยังเกี่ยวข้องอยู่กับการทำงานที่เป็นประโยชน์ของจุลินทรีย์ต่างๆ ในดินด้วย ปกติสารประกอบอินทรีย์ต่างๆ ในดินจะเน่าเปื่อยผุพังได้ก็โดยที่มีจุลินทรีย์ต่างๆ  เข้าย่อยทำลาย ขณะที่สารอินทรีย์พวกนี้กำลังสลายตัวก็จะปลดปล่อยธาตุอาหารต่างๆ ออกมาซึ่งรากพืชสามารถดึงดูดไปใช้ได้ พวกปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เมื่อใส่ลงไปในดินแล้วทำให้พืชงอกงามดีขึ้นนั้น ก็เนื่องจากจุลินทรีย์พวกนี้เข้าย่อยและทำให้ปุ๋ยคอกสลายตัว และปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชอีกทีหนึ่ง การที่ปุ๋ยคอกมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ช้ากว่าปุ๋ยเคมี  ก็เนื่องด้วยเหตุที่ปุ๋ยคอกต้องรอให้จุลินทรีย์เข้าย่อยให้สลายตัวเสียก่อน ซึ่งผิดกับปุ๋ยเคมีเมื่อละลายน้ำแล้วพืชก็สามารถดึงดูดเอาธาตุอาหารจากปุ๋ยไปใช้ได้ทันที จุลินทรีย์ต่างๆ ที่เข้าย่อยสลายปุ๋ยคอกและสารอินทรีย์ต่างๆ ตลอดจนฮิวมัสในดินนั้นจะทำงานได้เต็มที่และมีประสิทธิภาพ เมื่อ pH ของดินอยู่ระหว่าง pH 6-7 ถ้าดินเป็นกรดรุนแรงถึงกรดรุนแรงมาก จุลินทรีย์ในดินจะทำงานได้ช้าลง ปุ๋ยคอกและสารอินทรีย์ในดินจะสลายตัวและเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ช้ามาก

          เมื่อดินเป็นกรดรุนแรงและกรดรุนแรงมากนั้น มักจะพบว่าพืชที่ปลูกไม่เจริญเติบโต และงอกงามเท่าที่ควร เราสามารถแก้ไขดินที่เป็นกรดมากจนเกินไปนี้ (pH ต่ำกว่า ๕.๐) ให้มีระดับ pH  สูงขึ้น ได้โดยการใส่สารประกอบพวกปูนขาว  (Ca(OH2)) หินปูนที่บดละเอียดเป็นฝุ่น (CaCO3)  และปูนมาร์ล (marl) ซึ่งเป็นสารประเภทเดียวกันกับหินปูน สารประกอบพวกนี้เมื่อใส่ลงไปในดินจะมีฤทธิ์เป็นด่างและจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับกรด ทำให้สารพวกกรดในดินลดน้อยลง และมีสารพวกด่างสูงขึ้น

อ้างอิง : http://guru.sanook.com/



เขียนโดย : FarmKaset.ORG


เล็ก 07 Nov 2015 , 12:59 AM
ข้อมูลดีมาก ขอบคุณครับ
1



ชื่อ: *
อีเมล: *
 
ความเห็น: *
ป้องกัน Spam: * < พิมพ์คำว่า คนไทย
   

ชั้นวางหนังสือ iLab.Asia

คุณรู้หรือไม่?
ในรายการวิเคราะห์เป็นวิธีการจากสำนักวิเคราะห์ทางเคมีสากล (AOAC) และสมาคมวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสากล (ASTM) ซึ่งเป็นที่ยอมรับ ในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของกลุ่มประเทศแถบเอเซีย-แปซิฟิก (APLAC) สากล (ILAC) และหน่วยงานอื่นๆ ทั่วโลก ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ทั้งนี้ยังเป็นวิธีการใช้อ้างอิงในมาตรฐาน ISO/IEC 17025

Fast & Firm
ด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถ และเครื่องมือที่ทันสมัย ภายใต้การทำงานในระบบ ISO/IEC 17025 ซึ่งเป็นที่ยอมรับในหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ
ตรวจดิน: ด้วยเครื่องมือตรวจดินที่ทันสมัย