<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
โรคพืช ทำให้เกิดโรคในคนได้หรือไม่ ?
หลายคนคงเคยสงสัย "ถ้าบริโภคผักผลไม้ที่เป็นโรคแล้ว จะทำให้เราเป็นโรคหรือไม่" เป็นคำถามง่ายๆ ที่หลายคนอาจจะทราบคำตอบ แต่อีกหลายคนอาจไม่ทราบและไม่แน่ใจในคำตอบ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรู้ก่อนว่า โรคพืชเกิดขึ้นได้อย่างไร
"โรคพืช (Plant Disease)" เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ เกิดจากสิ่งมีชีวิตที่เป็นศัตรูพืช ซึ่งเรียกว่าเป็น Biotic Disease และเกิดจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ปริมาณธาตุอาหาร น้ำ อุณหภูมิ และแสง รวมถึงการปฏิบัติทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสม อาการผิดปกติของพืชที่เกิดจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเหล่านี้ เรียกว่าเป็น Abiotic Disease ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ติดต่อจากพืชหนึ่งไปยังพืชข้างเคียง
สำหรับโรคพืชที่เกิดจากศัตรูพืชซึ่งจัดเป็นโรคที่ติดต่อได้ (Infectious Disease) นั้น โรคพืชจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ เชื้อสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค (Pathogen) พืชอาศัย (Host Plant) และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค (Environment) ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ประการนี้ ต้องมีความสัมพันธ์กัน นั่นหมายความว่า เชื้อสาเหตุ เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัส จะทำให้เกิดโรคในพืชชนิดใดชนิดหนึ่งได้ เชื้อสาเหตุเหล่านี้ต้องสามารถดำรงชีวิตและขยายพันธุ์ในพืชชนิดนั้นได้ และภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เชื้อสาเหตุเหล่านี้จะสามารถทำให้เกิดโรค (Pathogenicity) ในพืชอาศัยของมันได้ ทั้งนี้ มีปัจจัยเรื่องระยะเวลา (Time) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งปัจจัยการเกิดโรคเหล่านี้ ในทางโรคพืชวิทยา เรียกว่า "สามเหลี่ยมโรคพืช (Disease Triangle)" ด้วยเหตุนี้ จึงอธิบายได้ว่า เหตุใดพืชหลายชนิดไม่เป็นโรค ทั้งที่ในโลกใบนี้ มีโรคพืชมากมายหลายชนิดปรากฏอยู่ ดังนั้น คงพอจะทราบคำตอบแล้วว่า โรคพืชทำให้เกิดโรคในคนได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้จะกล่าวได้ว่า จุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืช ไม่ก่อให้เกิดโรคในคน แต่เชื้อราสาเหตุโรคพืชบางชนิดสามารถสร้างสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนได้ เช่น Aflatoxin ซึ่งมักพบในเมล็ดธัญพืช ถั่ว และวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นอาหารสำหรับมนุษย์และสัตว์ Potulin ซึ่งมักพบในผักและผลไม้ Ochratoxin A และ Alternaria toxin เป็นต้น ซึ่งสารพิษจากเชื้อรา (Mycotoxins) ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า บางชนิดมีสมบัติเป็นสารก่อมะเร็ง และเกือบทุกชนิดมีความทนทานต่ออุณหภูมิสูงในกระบวนการแปรรูปอาหาร ดังนั้น การกำจัดผลิตผลในส่วนที่พบเชื้อราหรือเน่าเสียที่สามารถสังเกตเห็นได้ ไม่ได้เป็นการยืนยันถึงความปลอดภัยของผักผลไม้ที่บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการแปรรูปผักผลไม้ เพราะอาจยังมีเชื้อราบางส่วนปะปนและกลายเป็นแหล่งก่อให้เกิดการสร้างสารพิษขึ้นได้ ดังนั้น หากสงสัยหรือไม่แน่ใจในความปลอดภัยของผักและผลไม้ที่บริโภค ก็ควรกำจัดทิ้งผักผลไม้ที่สงสัยนั้น..."If in doubt_ throw it out!"
เอกสารอ้างอิง
Agrios_ G.N. 1997. Plant Pathology. 4th eds. Academic Press_ San Diego_ the United States of America.
เนตรนภิส เขียวขำ. 2554. สารพิษจากเชื้อราในผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว.
http://www.farmkaset..link... เข้าถึงเมื่อ 28 เมษายน 2555.
#
http://www.farmkaset..link..