<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
จำปาดะ คล้ายขนุน สีเข้มกว่า กลิ่ินหอมมากๆ พบได้เฉพาะทางใต้ของไทย
จำปาดะ หรือ Champedak ชื่อพฤกษศาสตร์ Artocarpus integer (Thumb.) Merr. อยู่ในสกุลเดียวกับขนุน A. heterophyllus Lam. หรือ Jackfruit และ สาเก A. altilis (Parkinson) Fosberg หรือ Breadfruit ภายใต้วงศ์ Moraceae แต่ขนุนและสาเกเป็นพืชต่างถิ่น ขนุนมีถิ่นกำเนิดที่อินเดีย ส่วนสาเกมีถิ่นกำเนิดในฟิลิปปินส์ หมู่เกาะโมลุกกะ และนิวกินี สกุล Artocarpus ในไทยมีพืชพื้นเมือง 12 ชนิด รวมถึงจำปาดะ แยกเป็น 2 สกุลย่อย คือ subg. Artocarpus ที่ใบเรียงเวียน หูใบยาวมากกว่า 1 ซม. หุ้มยอด ดอกเพศเมียและผลไม่เรียบ subg. Psedojaga ใบเรียงสลับในระนาบเดียว หูใบยาวไม่เกิน 5 มม. ติดด้านข้าง ดอกเพศเมียและผลเรียบ ซึ่งจำปาดะอยู่สกุลย่อย subg. Artocarpus
ชื่อพื้นเมือง จำปาเดาะ (ภาคใต้) ชื่อสามัญ Champedak มาจากภาษามาเลย์ chempadak หรือได้ชื่อว่า Golden Jackfruit เนื่องจากเหมือนขนุนแต่มีสีเข้มกว่า
ถิ่นกำเนิด พบที่คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว สุมาตรา สุลาเวสี โมลุกก และปาปัว ในไทยพบเฉพาะทางภาคใต้ที่สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง ภูเก็ต สงขลา ยะลา และนราธิวาส ขึ้นในป่าดิบชื้น และปลูกเป็นไม้ผลทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมพม่าและเวียดนาม และในอินเดีย ในไทยพบปลูกเฉพาะทางภาคทางภาคใต้ในระดับต่ำ ๆ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น ส่วนมากสูงถึงประมาณ 20 ม. หรือสูงกว่านี้ มีขนหยาบหรือขนสากสั้น ๆ สีน้ำตาลตามกิ่งอ่อน หูใบ เส้นแขนงใบด้านบน แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ และก้านช่อดอก หูใบเรียวหุ้มยอด ยาว 1.5-9 ซม. ใบเรียงเวียน รูปรี รูปไข่กลับ หรือแกมรูปขอบขนาน ส่วนมากยาว 8-20 ซม. ใบในต้นอ่อนมักจัก 3 พู ก้านใบยาวได้ถึง 3 ซม. ช่อดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ กิ่ง หรือลำต้น ดอกจำนวนมาก ใบประดับวงใน (inteflora bracts) ไม่มี ช่อเพศผู้แบบช่อเชิงลด รูปรีหรือรูปทรงกระบอก ยาว 1.5-5.5 ซม. ก้านช่อยาวถึง 6 ซม. ดอกแยกกัน กลีบรวมรูปหลอด ยาวประมาณ 1 มม. ปลายจัก 2 พู เกสรเพศผู้มี 1 อัน ยาวกว่าหลอดกลีบเล็กน้อย ช่อเพศเมียรูปไข่กลับหรือรูปทรงกระบอก ก้านช่อยาว 1.5-10 ซม. กลีบรวมเชื่อมติดกับดอกข้าง ๆ รังไข่แยกกัน ผลรวมเกิดจากกลีบรวมที่เชื่อมติดกันพัฒนาเป็นช่อรูปทรงกระบอกอ้วน ๆ หรือเกือบกลม ยาว 20-35 ซม. ผนังชั้นนอกแข็งเป็นช่องร่างแห ปลายกลีบรวมติดทนรูปกรวยคลายหนาม ยาว 1.5-3 มม. ผนังชั้นกลางสดนุ่ม ผลติดบนแกนกลาง แยกกัน รูปรี ยาวประมาณ 3 ซม. ผนังผลหนา เมล็ดขนาดใหญ่ ไม่มีเอนโดสเปอร์ม
หมายเหตุ พันธุ์ป่ามีความแตกต่างจากพันธุ์ที่ปลูกที่ผลมีขนาดเล็กกว่า ไม่มีกลิ่น และผนังผลย่อยไม่มีรสชาติ ส่วนต่าง ๆ มีขนน้อยกว่าหรือเกลี้ยง และถูกจำแนกเป็น var. silvestris Corner
ลักษณะทั่วไปคล้ายกับขนุน แต่ขนุนขนตามส่วนต่าง ๆ สีขาว สั้น ๆ ใบในต้นอ่อนไม่จักเป็นพู ก้านช่อดอกเพศเมียและผลส่วนปลายขยายหนาเป็นขอบนูน ช่อผลรวมทรงกลม ๆ ไม่เรียวยาว ผลมีขนาดใหญ่และยาวกว่า เปลือกหนากว่า สุกมีกลิ่นแรงน้อยกว่าจะปาดะ ส่วนสาเกช่อดอกออกตามซอกใบ ใบมีขนาดใหญแยกเป็นแฉก
การใช้ประโยชน์ ใบอ่อนและผลอ่อนรับประทานดิบหรือใช้ปรุงอาหาร ผลแก่มีกลิ่นหอมแรง เยื่อหุ้มเมล็ดกินสดหรือนำไปชุบแป้งทอด เมล็ดต้มหรือเผารสชาติคล้านถั่ว เนื้อไม้แข็งและทนทาน ใช้ก่อสร้าง ใช้ย้อมผ้าให้สีเหลือง
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด หรือกิ่งตอน โตเร็ว ออกดอกและติดผลได้ภายใน 3-6 ปี
อ้างอิง:
Berg_ C.C._ Pattharahirantricin_ N. & Chantarasuwan_ B. (2011). Moraceae. In Flora of Thailand Vol. 10(4): 484-485.
Jansen_ P.C.M. (1992). Artocarpus integer_ pp. 91-94. In Plant Resources of South-East Asia. 2. Edible Fruits and Nuts. E.W.M. Verheij and R.E. Coronel (eds). PROSEA_ Pudoc_ Wageningen.
จำปาดะ Artocarpus integer
ขนุน Artocarpus heterophyllus (ภาพซ้าย); สาเก Artocarpus altilis (ภาพขวา)
ข้อมูลและภาพ: ราชันย์ ภู่มา
Reference: dnp.go.th