Library
ปุ๋ยสั่งตัด - ลดต้นทุน
การใช้ปุ๋ยเคมีแบบ สั่งตัด คือการใช้ปุ๋ยเคมีตามชุดดิน และ ค่าวิเคราะห์ดินปัจจุบัน ซึ่งพัฒนาโดยนำข้อมูลดิน พืช...
Íѻഷ ( 26 เมษายน 2554 ) , áÊ´§ (8,597) ,

คลินิกปุ๋ยสั่งตัด : เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวและข้าวโพดได้ด้วยตนเอง

ปุ๋ยสั่งตัด คือ อะไร?

           การใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” คือ การใช้ปุ๋ยเคมีตามชุดดิน และ ค่าวิเคราะห์ดินปัจจุบัน  ซึ่งพัฒนาโดยนำข้อมูลดิน พืช การจัดการดิน รวมทั้งผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์มาคำนวณในคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมการปลูกพืชที่สลับซับซ้อน  แต่ทำให้ง่ายสำหรับเกษตรกรนำไปใช้  คำแนะนำปุ๋ยแบบ “สั่งตัด” จะมีความแตกต่างกันในดินแต่ละชนิด  เช่น คำแนะนำปุ๋ยข้าวในชุดดินอยุธยา และ ชุดดินมโนรมย์ไม่เท่ากันแม้ปริมาณ เอ็น พี เค ที่วิเคราะห์ได้ในดินเท่ากัน  กรณีของข้าวโพด คำแนะนำปุ๋ย “สั่งตัด” ของชุดดินปากช่อง จ. นครราชสีมา แตกต่างจากคำแนะนำปุ๋ยของชุดดินปากช่อง จ. ลพบุรี เป็นต้น

การใช้ปุ๋ยสั่งตัด ช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าว และ ข้าวโพดได้อย่างไร และ เท่าใด?

          จากผลการทดลองโครงการบูรณาการเพื่อลดต้นทุนการปลูกข้าวในเขตชลประทานภาคกลางที่ใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” โดย ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และหน่วยงานอีกหลายแห่ง พบว่า ชาวนาใส่ปุ๋ย เอ็น และ พี ในปริมาณมากเกินกว่าความต้องการของต้นข้าว  และ ละเลยการใส่ปุ๋ย เค เมื่อเกษตรกรทดลองใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” ทำให้ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7  ขณะที่ต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีลดลง 241 บาท  (เมื่อคิดราคาปุ๋ยเดือนมกราคม 2550)  ค่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชลดลง 178 บาท  ค่าเมล็ดพันธุ์ลดลง 91 บาท  รวมต้นทุนการปลูกข้าวลดลง 510 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก  ถ้าชาวนาภาคกลางในพื้นที่ 10 ล้านไร่ (ปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง) ได้ใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” จะทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี  ส่วนชาวไร่ข้าวโพดจะได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 35 และ ผลตอบแทนสูงขึ้นอีกร้อยละ 41 เมื่อใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด”

เหตุใดเกษตรกรจึงทำปุ๋ยสั่งตัดได้ด้วยตนเอง?

                เกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถตรวจสอบเอ็น พี เค ในดินโดยใช้ชุดตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดินอย่างง่ายด้วยตัวเอง ซึ่งรู้ผลได้ภายใน 30 นาที  และ เกษตรกรสามารถทราบชื่อชุดดินโดยตรวจสอบได้จากแผนที่ดินของกรมพัฒนาที่ดิน  จากนั้นเกษตรกรสามารถหาคำแนะนำปุ๋ย “สั่งตัด” ได้โดยการใช้หนังสือหรือโปรแกรมคำแนะนำ

หลักการสำคัญของปุ๋ยสั่งตัด

              เกษตรกรที่ต้องการใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” เพื่อช่วยให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ควรมีความรู้ความเข้าใจใน 3 ขั้นตอน ได้แก่ การตรวจสอบข้อมูลชุดดิน  การเก็บตัวอย่างดินและการตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดิน  และ การใช้คำแนะนำปุ๋ยสั่งตัดโดยใช้คู่มือหรือโปรแกรมสำเร็จรูป  ซึ่งทุกขั้นตอนเกษตรกรสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง

การตรวจสอบข้อมูลชุดดิน

              เกษตรกรสามารถใช้คู่มือการตรวจสอบชุดดิน หรือ เปิดแผนที่ดินของกรมพัฒนาที่ดินเพื่อหาชื่อชุดดินของตนเองได้

การเก็บตัวอย่างดินและการตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดิน

                เกษตรกรควรศึกษาวิธีการเก็บตัวอย่างดินเพื่อให้ได้ตัวอย่างดินที่เป็นตัวแทนของที่ดินของตนเอง  และ ควรวิเคราะห์ดินโดยใช้ชุดตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดินได้ด้วยตนเอง

การใช้คำแนะนำปุ๋ยสั่งตัดโดยใช้คู่มือหรือโปรแกรมสำเร็จรูป

                เกษตรกรสามารถใช้คู่มือหรือโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อหาคำแนะนำปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” ได้

การใช้ปุ๋ยสั่งตัดในไร่นาของเกษตรกร
ผู้ใช้ปุ๋ยสั่งตัดภาคประชาชน

                ชาวนา  เช่น  คุณพิชิต เกียรติสมพร  คุณสมศักดิ์ นุ่มน่วม  คุณสมมาตร สิงห์ทอง  คุณศรีนวล ศรีสวัสดิ์  คุณประทิน หมื่นจง คุณมาณพ ขันทอง  คุณสมใจ ศรีชัยนาท  คุณธัญพร ศรีประเสริฐ  คุณประจวบ เพชรทับทิม  คุณโสภณ ทองดอนพุ่ม  คุณประสิทธิ์ วงษ์สนอง  คุณสมปอง ฉ่ำเฉลียว  คุณสำรวย วงษ์สนอง  คุณสุนทร ชมแพ  คุณบันเทิง อภัยสุข  คุณสุรินทร์ โพโต  คุณสนิท คำแหง  คุณอำไพ น้ำจันทร์  คุณนิมนต์ เกิดบัณฑิต  คุณเสวก ทับทิม  คุณนิสา สังวาลย์เพชร  คุณปลี รอดเรื่อง  คุณสุภาพ โนรีวงศ์  เป็นต้น

                ชาวไร่ข้าวโพด  เช่น  คุณสมบัติ นิรากรณ์  คุณสละ นิรากรณ์  คุณชำเลือง ลัดดาผล  คุณสัมพันธ์ เย็นวารี  คุณกฤชพัฒน์ ศรีทรงเมือง  เป็นต้น

หน่วยงานที่ใช้ปุ๋ยสั่งตัด

                สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม  กรมส่งเสริมการเกษตร  วิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยี  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หลักสูตรอบรมการใช้ปุ๋ยสั่งตัด 1 วัน

                เกษตรกรสามารถเรียนรู้วิธีการใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” ได้หลังจากผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ  ที่มีการเรียนรู้ทั้งภาคบรรยาย และ ภาคปฏิบัติการตามหัวข้อดังต่อไปนี้

หลักคิดของเกษตรกรมืออาชีพ

             เกษตรกรควรมีหลักคิดที่ถูกต้องเพื่อพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเอง  โดยเป็นผู้รอบรู้ในด้านการจัดการดิน ปุ๋ย โรค และ แมลงศัตรูพืช  และ มีความสามารถใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ไร่นาของตนเอง  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยสามารถเพิ่มผลผลิต และ ลดต้นทุนการผลิตได้

รู้จริงเรื่องดินและปุ๋ย

                ปัจจุบันเกษตรกรส่วนมากพยายามลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงเพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทน  แต่ถ้าเกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีน้อยเกินไป  ผลผลิตที่ได้จะลดลงไปด้วย  เกษตรกรจึงควรรู้จักทรัพยากรดินที่เป็นรากฐานของชีวิตตนเอง  และ ควรมีความเข้าใจในการเลือกใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสมทั้งชนิด และ ปริมาณ  เพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการผลิต และ ป้องกันปัญหาดินเสื่อมโทรม
ทำไมต้องใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด”

                ดินที่ใช้เพาะปลูกพืชมีมากมายหลายร้อยชุดดิน  แต่ละชุดดินมีศักยภาพในการให้ผลผลิตพืชแตกต่างกัน  การใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” คือ การนำข้อมูลชุดดิน  ซึ่งหมายถึง การนำสมบัติทางเคมี และ กายภาพอื่นๆ มาร่วมคำนวณคำแนะนำปุ๋ย และ  นำข้อมูล เอ็น พี เค ในดินมาประกอบการตัดสินใจใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

การตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดินอย่างรวดเร็ว

                เกษตรกรสามารถเก็บตัวอย่างดินได้อย่างถูกต้อง และ สามารถใช้ชุดตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดินได้ด้วยตนเอง  ซึ่งจะทำให้เกษตรกรทราบปริมาณ เอ็น พี เค ในดินได้ภายเวลา 30 นาที

การอ่านคำแนะนำปุ๋ย
                                เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยเคมีได้เหมาะสมกับความต้องการของพืชโดยใช้ปุ๋ยตามตารางคำแนะนำการใส่ปุ๋ยตามระดับธาตุอาหารพืชในชุดดินต่างๆ ที่นักวิจัยได้ทำไว้ให้แล้วในรูปของหนังสือคู่มือ และ โปรแกรม SimRice และ Simcorn

ช่องทางเข้าถึงปุ๋ยสั่งตัด
หนังสือธรรมชาติของดินและปุ๋ย : คู่มือสำหรับเกษตรกรยุคใหม่
วิดีทัศน์ การบรรยายหลักคิด หลักวิชา และ หลักปฏิบัติเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด”
ซีดีโปรแกรมคำแนะนำปุ๋ยสั่งตัดสำหรับข้าว (SimRice) และ ข้าวโพด (Simcorn)
www.ssnm.agr.ku.ac.th
ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 02-942-8104-5 โทรสาร 02-942-8106

หน่วยงานวิจัยปุ๋ยสั่งตัด  หน่วยงานบริการ และ หน่วยงานสนับสนุน
ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กรมวิชาการเกษตร  กรมพัฒนาที่ดิน 
กรมส่งเสริมการเกษตร  กรมการข้าว  มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน
วิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  ศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม

อ้างอิง : http://www.rdi.ku.ac.th/




¢éÍÁÙŹÕé ¾ÔÁ¾ì¨Ò¡ www.iLab.Asia µÒÁ URL ´éÒ¹ÅèÒ§
http://www.ilab.asia/ilab/iLab_library.aspx?content=00426