data-ad-format="autorelaxed">
เมื่อชีวิตมนุษย์เงินเดือนแต่ละวันช่างน่าเบื่อ มีมนุษย์เงินเดือนไม่น้อยที่ท้อแท้กับปัญหารถติดทั้งเช้า และเย็น ค่าครองชีพแสนแพง ความวุ่นวาย และจริตมากมายในเมืองกรุง คิดถึงชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่ต่างจังหวัด ปลูกผัก เลี้ยงปลา ทำการเกษตร ใช้ชีวิตสบาย ๆ ได้ทุกวัน แต่ฝันก็ต้องสลาย เพราะคิดว่ามันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะเสี่ยงทิ้งเงินเดือนหลายหมื่น กลับไปทำการเกษตรที่ต่างจังหวัด “ไม่รอดชัวร์”
แล้วคนที่ลาออกจากมนุษย์เงินเดือน ไปเป็นเกษตรกรแล้วรุ่ง มีรายได้มากกว่าเดิม เพิ่มเติมคือชีวิตสโลว์ไลฟ์ เค้าทำยังไงกันล่ะ?
มาลองดู Case Study ของเกษตรกรยุค 4.0 ที่ยอมลาออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนสูง ๆ ผันตัวเองสู่อาชีพเกษตรกร แล้วประสบความสำเร็จ พลิกความเชื่อที่ว่ายุคนี้ทำการเกษตรแล้วไม่เวิร์ค!
ยุค 4.0 คืออะไร? ทำความเข้าใจง่าย ๆ ในคลิปนี้
- 1.0 ยุคเกษตรกรรม ประชาชนเน้นทำการเกษตรเป็นหลัก
- 2.0 ยุคอุตสาหกรรมเบา ทำอุตสาหกรรมภายใน ใช้ต้นทุนที่มีอยู่แล้ว ประชาชนเริ่มมีศักยภาพและการศึกษามากขึ้น
- 3.0 ยุคอุตสาหกรรมหนัก ทำอุตสาหกรรมโดยใช้ต้นทุนจากต่างประเทศ และเน้นการส่งออก ยุคนี้ทำให้ประเทศไทยติดอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางมากว่า 20 ปี และยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและต้นทุนจากต่างประเทศมาโดยตลอด
- 4.0 ยุคขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยใช้ความได้เปรียบที่ประเทศเรามีอยู่แล้ว คือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม
เกษตร 4.0 เป็นการเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
ยุทธศาสตร์ของเกษตร 4.0
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวว่า เพื่อกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาในระยะยาว จำเป็นต้องมีกรอบการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศระยะ 20 ปี โดยได้วางแผนระยะยาวไว้ 10 ข้อดังนี้
- ส่งเสริมเกษตรกรให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย
- เพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ
- คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมรวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย
- แก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร
- พัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบที่มีอยู่ให้ทันสมัย
- เน้นทำปศุสัตว์แปลงใหญ่ให้ความสำคัญกับอาหารสุขภาพ
- เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร
- ปรับการผลิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- เน้นทำวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น
- บูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติ
คุณอายุ จือเปา จากเด็กดอยที่ได้รับสมุดและดินสอแท่งแรกพระราชทานจากในหลวง สู่ “อาข่า อ่ามา” กาแฟชาวดอยที่โลดแล่นอยู่บนเวทีโลก
“ทุกวันนี้ผมภูมิใจมากที่ได้บอกใครต่อใครว่า อาข่า อ่ามา เป็นกาแฟที่ปลูกโดยคนไทย ผลิตโดยคนไทย จนถึงคั่วบดชงโดยคนไทย”
– คุณอายุ จือปา Young Smart Farmer ปี 2016
หมู่บ้านแม่จันใต้ ยอดดอยอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
น้ำเสียงที่คุณลีย้ำในแต่ละคำนั้น แสดงถึงความรู้สึกที่ลึกซึ้งกว่าความภูมิใจ เพราะจากความพยายามของชาวเขาเผ่าอาข่า ที่รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานที่อยู่ ที่ทำกิน ความรู้ และอนาคตที่ดี ทำให้เขาค่อยๆ สร้างกาแฟ ‘อาข่า อ่ามา’ จากรากหญ้าสู่หน้าร้าน จนชนะใจคณะกรรมการคว้ารางวัลชนะเลิศ Smart Farmer Award มาครอง เรื่องราวกาแฟของเขาเปิดฉากขึ้นที่หมู่บ้านแม่จันใต้ บนยอดดอยสูงของอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
“ครอบครัวผมเป็นผู้ลี้ภัยจากสงครามคอมมิวนิสต์ เข้ามาประเทศไทยทางจังหวัดเชียงราย พอถึงรุ่นผมกับน้องอีก 4 คนก็ไม่ลำบากแล้ว ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมจาก 2 พระองค์ พระองค์แรกคือสมเด็จย่า พระองค์ไม่เคยมองพวกเราเป็นคนอื่น ทรงเปิดโรงเรียนแม่ฟ้าหลวงเพื่อให้ชาวเขาเรียนหนังสือ ผมได้ฝึกพูด อ่าน เขียนภาษาไทยเป็นครั้งแรก วันแรกที่ร้องเพลงชาติไทย รู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกถึงการเคารพซึ่งกันและกัน ที่มากกว่านั้นคือ ดินสอกับสมุดปกสีน้ำตาลที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9
กำลังพระราชทานของให้กับหญิงชายคู่หนึ่ง ผมนำกลับบ้านไปอวดพ่อแม่ ท่านบอกรู้ไหม คนบนปกหนังสือคือพระมหากษัตริย์ ที่บ้านผมเรียกพระองค์ท่านว่าพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสของสมเด็จย่า พวกเราเรียกว่าแม่ ทั้ง 2 พระองค์พระราชทานทั้งที่ดินทำกิน ให้เมล็ดพันธุ์ต่างๆ ทั้งพืชผักเมืองหนาว ชา กาแฟ เพื่อให้พวกเราสามารถเก็บกินได้ตลอดปี เปรียบเสมือนข้อความที่พระองค์พระราชทานว่า ทรงรักพสกนิกรของพระองค์มากมายเพียงไร ฉะนั้นเมื่อเราได้เรียนหนังสือก็ได้ถือว่าเป็นคนที่พัฒนาแล้ว ผมจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะสืบสานพระราชกรณียกิจของพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์ เป็นความฝันของเด็กคนหนึ่งที่อยากทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคม”
จบป.6 จากโรงเรียนแม่ฟ้าหลวง ความที่พ่อแม่ไม่มีเงินส่งเรียน ผมอาศัยผ้าเหลืองเรียนต่อม.1-3 ที่โรงเรียนวัดนครเจดีย์ จังหวัดลำพูน จากนั้นสึกมาเรียนม.4-6 ที่โรงเรียนเดิม แล้วเข้าที่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย เลือกเรียนคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ หลักสุตรนานาชาติ จบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 แล้วได้ทำงานอย่างที่ตั้งใจคือ มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก ที่เชียงใหม่ เป็นองค์กรของสวิสฯ ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย จากที่เคยคิดว่าตัวเองโชคร้าย เกิดบนดอยสูง ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง พอได้เจอเด็กกำพร้า พ่อแม่ตายในสงคราม ทุกข์ยากกว่าหลายร้อยเท่า จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากกลับบ้าน อยากน้อมนำแนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนบ้านเกิด พ่อแม่ถึงกับกุมขมับ ผมกลายเป็นคนทำให้ภาพการศึกษาของชาวบ้านบิดเบือน ไปเรียน 20 ปี ใช้ทรัพยากรมากมาย แต่สุดท้ายไปไม่รอดต้องกลับมา ชาวบ้านถามผมว่าจะทำได้หรือ ผมน้อยใจนะ เพราะใจมาเกิน 100 แล้ว พ่อแม่บอกว่า ชาวบ้านยังไม่เห็นผลงาน ลูกต้องแสดงให้เห็นว่าเข้มแข็งและทำได้
พื้นฐานผมคือทำงานเพื่อสังคม หากจะทำงานเพื่อชาวบ้านก็คงต้องเข้าใจปัญหาของพวกเขาก่อน ตอนนั้นเราปลูกทั้งผัก ผลไม้เมืองหนาว ชา กาแฟ โดยเฉพาะกาแฟที่แม้จะถูกพ่อค้ากดราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 4-5 บาท แต่ชาวบ้านยังภูมิใจที่ได้ปลูก เพราะพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานผ่านทางโครงการหลวงเกษตรที่สูง พวกเขาเชื่อมั่นว่ามีอนาคต ผมจึงทำแผนธุรกิจ 3 ปีเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552 โดยใช้โมเดลธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ต้องการเงินลงทุน 3 แสนกว่าบาท ณ ตอนนั้นมีแผน มีฝัน แต่ไม่มีเงิน จึงไปเดินงาน Money Expo เพื่อกู้แบงก์ ทุกคนชม แต่คำถามคือ ผมมีหลักทรัพย์ไหม อึ้ง เพราะขนาดที่ดินที่อยู่ทุกวันนี้ยังเป็นที่ดินพระราชทาน แต่ผมไม่เสียกำลังใจ ส่งแผนธุรกิจไปที่มูลนิธิต่างๆ เพื่อช่วยกระจายถึงผู้ใจบุญ ต้นปี 2553 ผมได้ข่าวดีจากครอบครัวจากสวิตเซอร์แลนด์ เขาเดินทางมาหาที่เชียงราย ให้ทุนผมโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ
พ่อแม่คือครูกาแฟคนแรก ผมจึงนำมาใช้เป็นชื่อร้านกาแฟคือ อาข่า อ่ามา (AKHA AMA) แปลว่ากาแฟของแม่ เปิดที่เชียงใหม่ พยายามกระจายสินค้าไปที่ร้านต่างๆ โดยขายหน้าร้านด้วย ปีแรกผมขายกาแฟให้พ่อแม่ได้ 1,000-2,000 กิโลกรัม จากที่ขายเป็นกาแฟเชอรี่กิโลละ 4-5 บาท ตอนนี้คั่วแล้วได้กิโลกรัมละ 350 บาท แต่พอหักค่าแรงแล้วเกือบติดลบ ปีที่สองเริ่มขยายสู่ครอบครัวอื่น มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตกาแฟ เริ่มมีสายพันธุ์ย่อย เช่น Typica, Catuai และ Catimor โดยใส่ชื่อของเจ้าของที่ปลูกด้วย เพื่อที่เขาจะได้ภูมิใจพัฒนากาแฟที่มีให้ดีขึ้น จากผลผลิต 2,000 กก. เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 กก. ราคาเขยิบขึ้นเป็น 400 บาท ชาวบ้านเริ่มมั่นใจ ปีที่ 3 ขึ้นมา 8,000 กก. ปีที่ 4 ขึ้นมา 12 ตัน ปีที่ 5 ขึ้นมา 18 ตัน ปีที่แล้ว 36 ตัน ร้อยละ 60 มาจากขายส่งเมล็ดกาแฟ อีกร้อยละ 40 มาจากขายหน้าร้าน กาแฟที่ขึ้นชื่อคือ Peaberry พิเศษตรงที่เป็นกาแฟเมล็ดกลม ต้องคัดด้วยมือทีละเมล็ด เมื่อปีที่แล้วเราสามารถสร้างรายได้ยังไม่หักค่าใช้จ่ายประมาณ 9 ล้านบาท เป็นเงินเยอะมากจนไม่เคยคิดฝันว่าในชีวิตนี้จะได้สัมผัส
ส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าเติบโตได้ขนาดนี้ มาจากผลงานของชาวบ้าน ชาวบ้านมีความรู้ ได้ลงมือปฎิบัติ เกิดความภูมิใจที่กาแฟของเขาไปขายที่ไหนก็ไม่อายใครแล้ว กาแฟจากชุมชนบ้านแม่จันใต้ ยังได้รับการคัดเลือกให้อยู่บนเวทีโลกติดต่อกัน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2553 – 2555 ทั้งอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย ที่สำคัญคือชาวบ้านเข้าใจเรื่องการแบ่งปัน ช่วยเหลือ ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเอง รายได้ที่กลับมาสามารถส่งลูกไปเรียนหนังสือ เมื่อลูกหลานมีการศึกษาที่ดีก็กลับมาพัฒนาชุมชน วันนี้เราทำงานกับ 5 ชุมชน นำผู้รู้ทั้งในและต่างประเทศไปแลกเปลี่ยน ส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้วิธีการปลูก ต้องใช้น้ำอย่างไร ตากให้แห้งเท่าไหร่ เก็บอย่างไรกาแฟจึงมีคุณภาพดี วันนี้ ร้อยละ 80 ของน้องที่ร้านมาจากชุมชนผู้ปลูกกาแฟ แม่ผมกับน้อง ช่วยประสานทางต้นน้ำที่เชียงราย ส่วนกลางน้ำที่ต้องแปรรูป ทำแพคเกจจิ้ง นำเสนอลูกค้า จนถึงปลายน้ำผมดูแลเป็นหลัก มาถึงจุดที่ผมภูมิใจที่สุดคือ น้องๆ ในชุมชนสามารถทำการตลาดได้ ปรับปรุงวิธีการผลิต ตั้งแต่การคั่วกาแฟ (Roaster) การชงกาแฟ (Barista) จนถึงเป็นผู้บริหาร
ทุกปีผมได้รับข่าวประกวด Smart Farmer จากมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด รู้สึกชื่นชมการประกวดลักษณะนี้ ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือต่างประเทศ เพราะเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่ทำยั่งยืนจริงไหม สร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคมได้จริงหรือเปล่า แต่ด้วยธรรมชาติของอาข่า อ่ามา ไม่ชอบการแข่งขัน จึงไม่ได้เข้าร่วม ในปีนี้มีเสียงสะท้อนของผู้ใหญ่ สื่อ และเพื่อนๆ ในเครือข่ายที่บอกว่า รายการนี้จะสร้างให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคม สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในชุมชน ผมจึงคุยกับน้องๆ ที่ร้านว่า น่าลอง เพราะเป็นสิ่งที่เราทำอยู่ ความตั้งใจที่ผมจะไปสร้างพลังให้น้องๆ ได้ทำตามฝันของตัวเอง เมื่อได้เจอคนเจ๋งทั้ง 9 คนที่ทำงานเพื่อสังคม ได้เรียนรู้ ได้เห็นเพื่อน ผู้ใหญ่ที่เห็นคุณค่า กลับกลายเป็นพลังให้กับเรา ในฐานะผู้ชนะผมดีใจแน่นอน ผมเชื่อว่าจากคนที่ไม่รู้จัก อาข่า อ่ามา ว่าคืออะไร หลังจากที่ผมได้ออกสื่อ จะช่วยจุดประกายคนที่กำลังฝันอยู่ได้กล้าลงมือทำ หรือคนที่ไม่กล้าฝันก็จะได้เริ่มต้นฝัน ขณะเดียวกันเริ่มมีความหวังว่า พื้นที่เรียนรู้ทางสังคมที่จะเปิดที่แม่ริม มีโมเดลของเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่เก็บกาแฟ คั่วกาแฟ แพคกาแฟ มีแล็บชิมกาแฟ และวนเกษตรตามแนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จำนวน 5 ไร่ หากมีหน่วยงานใดที่ยินดีลงทุนให้กับผู้ที่มีความฝันได้ริเริ่มโครงการของตัวเอง อาจเป็น Startup ของ Social Enterprise ก็ได้ ซึ่งในเบื้องต้นผมหวังว่า ทางดีแทคและมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดคงมีช่องทางบอกต่อกับเครือข่าย อาจเป็นการจัดจำหน่าย หรือช่องทางในการโปรโมท เป็นสื่อ หรือออนไลน์ คิดดูแค่ในบริษัทชงกาแฟอาข่า อ่ามา แค่บริษัทละ 10 กิโลกรัม 10 บริษัท ก็ช่วยเหลือชาวไทยภูเขาได้เยอะแล้ว
“สามารถสร้างได้ ทำได้ตั้งแต่วันนี้เลย”
Young Smart Farmer
ดูคลิปผู้ชนะโครงการ Young Smart Farmer 2016 ทั้ง 3 ท่านได้ที่นี่ รวมถึงคลิปของคุณอายุ จือปา ผู้ชนะเลิศด้วยที่นี่
ไร่รื่นรมย์ จังหวัดเชียงราย
“เกษตรกรรุ่นใหม่ ไม่ได้ภูมิใจแค่ปลูกผักให้ผลเจริญงอกงาม แต่ภูมิใจที่ได้สร้างสรรค์สิ่งดีคืนสู่สังคม”
– คุณศิริวิมล กิตะพาณิชย์
ข้าวหอมนิลอินทรีย์ – ผักอินทรีย์ไร้สารพิษ จังหวัดเชียงราย
สิ่งที่คุณศิริวิมลทำคือ
- ไม่ย่อท้อต่อปัญหา อย่าพึ่งพาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง พลิกแพลงแผนตามธรรมชาติ ต้องเรียนรู้เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด สุดท้ายเราต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้ เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
- ใช้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ตามรอยพระราชดำริ แนวทางในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นา คือ ที่ดินและนาเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- นำแนวคิดความพอเพียงมาใช้งานกับชุมชน
- หมุนเวียนระหว่างพืชและสัตว์ ปลูกข้าว ปลูกพืชสมุนไพร เลี้ยงสัตว์ มูลสัตว์เอาไปปลูกพืช ส่วนพืชที่ได้ก็เอาไปเลี้ยงสัตว์อีกที
- ทำเกษตรครบวงจร เอาสังคมเข้ามาร่วมด้วยตั้งแต่เริ่มต้น การผลิต-การแปรรูป-การขาย-การทำเพื่อสังคม และจะมีอีกหลายชุมชนที่ได้รับประโยชน์
ฟาร์มแก้วพะเนาว์ จังหวัดมหาสารคาม
“เราต้องนำพาวิถีชีวิตของคำว่า เกษตรกร ให้ไปให้ไกลที่สุดอย่าให้มันจบลงที่คนรุ่นใหม่”
– คุณพงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์
ผักอินทรีย์ไร้สารพิษ จังหวัดมหาสารคาม
สิ่งที่คุณพงษ์พัฒน์ทำคือ
- บริหารระบบโครงสร้างการเกษตรว่าทำยังไงให้การเกษตรอยู่รอดและมีเงินเก็บ
- นำสื่อดิจิตอลเข้ามาใช้ เช่น Facebook, Line และ Social Media เพื่อโพสว่าวันนี้ทำยังไงบ้าง ทำกี่แปลง ปรุงดินแบบไหน คนอื่นก็ได้ความรู้นำไปทำต่อ รวมถึงพอสำเร็จก็โพสกลับมาบ้างว่าทำแล้วได้ผลลัพธ์ยังไงบ้าง ช่วยกันส่งเสริมองค์ความรู้และเทคนิค
- พอได้ผลผลิต ก็เริ่มส่งตามตลาดชุมชน ตลาดอำเภอ ตลาดจังหวัด บางส่วนก็ติดต่อกับห้างฯโดยตรง แจ้งว่าสามารถผลิตผักได้ทุกวันทุกอาทิตย์ทุกเดือน พอบริษัทมาตรวจก็แฮปปี้
- นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ และทำให้เกษตรกรภูมิใจและรักในอาชีพของตนเอง ว่าเป็นอาชีพที่ดูแลตัวเองได้ไม่อดตาย สร้างเครือข่ายกลุ่มชุมชนเกษตรกร
ทั้งหมดนี้ทีมงาน iUrban หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งเกษตรกรและอีกหลายคนที่อยากผันตัวเองไปทำอาชีพการเกษตรแบบรุ่นใหม่ผสมผสานนวัตกรรมทั้งเทคโนโลยีข้อมูลและการจัดการต่างๆ และถ้าหากเกษตรกรท่านใดสนใจจะมาร่วมในส่วนของโครงการ Smart Farmer ทั้งการได้รับความรู้และเครื่องมือ ก็สามารถดูรายละเอียดได้ดังนี้
โครงการ dtac Smart Farmer
โครงการ dtac Smart Farmer เป็นโครงการที่ดีแทคร่วมมือกับทางภาครัฐ (กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการส่งเสริมความรู้และศักยภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตในการทำการตลาดสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์เพื่อให้พวกเขาก้าวไปสู่ความเป็นเกษตรกรต้นแบบ ส่งต่อความรู้ ถ่ายทอดบทเรียน และเป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชนในพื้นที่ต่อไป
โดยได้ร่วมจัดการฝึกอบรมให้แก่ Smart Farmer ทั่วประเทศไปแล้วกว่า 3,000 ราย ซึ่งสิ่งที่ได้เข้าไปอบรมประกอบไปด้วย 2 ส่วน
- พัฒนาและรวมรวมคลังความรู้ และ ข้อมูลการทำการเกษตรในรูปแบบของ application เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับปรุงพัฒนาและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันมากขึ้น
- ส่วนของการตลาดออนไลน์ สามารถเข้าถึง consumer ได้โดยตรง
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยในการพัฒนา Agri Tech และนำมาให้เกษตรกรใช้งานจริง
Smart Farmer Awards
จะมีการจัดขึ้นทุกๆปี เพื่อเป็นการเฟ้นหาเกษตรกรผู้ซึ่งเป็น Smart Farmer เพื่อคัดเลือกผู้ชนะและสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เกษตรกรคนอื่นๆต่อไป
งานประกาศรางวัล Smart Farmer Awards 2016
สำหรับในปีนี้ตีมหลักของงานคือ “ทางรอดของเกษตรกรไทย กับการเกษตรครบวงจร” ซึ่งต้องการสื่อให้เห็นว่าการใช้สื่อดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำการเกษตรสามารถทำให้เกิดการเกษตรครบวงจรได้ทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ
- ต้นน้ำ หรือขั้นตอนของการผลิตเกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยสื่อดิจิทัลเพื่อนำข้อมูลเหล้านี้มาปรับปรุงและพัฒนาผลผลิตให้ดียิ่งขึ้น
- กลางน้ำ การแปรรูปสามารถใช้สื่อดิจิทัลในการหาข้อมูลศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เช่นกัน
- ปลายน้ำ หรือการทำการตลาดเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค
การทำการเกษตรแบบครบวงจรนี้เองเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไทยสามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเองและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
ซึ่งในปีนี้เองก็ได้ประกาศผลผู้ชนะเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ณ ดีแทคเฮาส์ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองอันดับ 1 และ 2 เป็นเกษตรกรผู้ที่ได้นำความรู้สามารถประยุกต์ใช้สื่อดิจิทัลเพื่อพัฒนาและเป็นต้นแบบให้ชุมชนในการทำการเกษตรแบบควบวงจรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ที่มา: จากนิตยสารแพรว
source: iurban.in.th/greenery/smartfarmer/